ไบโอม (Biomes)
ไบโอม (Biomes) หรือ ชีวนิเวศ คือระบบนิเวศใดๆ ก็ตามที่มีองค์ประกอบของปัจจัยทางกายภาพ เช่นอุณหภูมิ ความชื้น และปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พืชและสัตว์ ที่คล้ายคลึงกันกระจายอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ต่างๆ นอกนี้พบว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในไบโอมต่างๆ นี้ ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับปัจจัยทางกายภาพในแต่ละเขตภูมิศาสตร์นั้น ๆ ด้วย

ประเภทของไบโอม แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ไบโอมบนบก
2. ไบโอมในน้ำ

1. ไบโอมบนบก
   
          ไบโอมบนบก (terrestrial biomes)  ใช้เกณฑ์ปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดไบโอมบนบกที่มีอยู่ในโลกนี้แบ่งออกได้หลายไบโอม   แต่ไบโอมบนบกที่สำคัญที่จะกล่าวถึง ได้แก่ ไบโอมป่าดิบชื้น   ไบโอมป่าผลักใบในเขตอบอุ่น ไบโอมทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น   ไบโอมสะวันนา ไบโอมป่าสน ไบโอมทะเลทราย และไบโอมทุนดรา เป็นต้น


ภาพ ไบโอมบนบก

1.1 ไบโอมป่าดิบชื้น   
           ป่าดิบชื้น (tropical rain forest) พบได้ในบริเวณใกล้เขตเส้นศูนย์สูตรของโลกในทวีปอเมริกากลาง ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา ทวิปเอเชียตอนใต้  และบริเวณบางส่วนของหมู่เกาะแปซิฟิก   ลักษณะของภูมิอากาศร้อนและชื้น   มีฝนตกตลอดปี  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 200-400 เซนติเมตรต่อปี ในป่าชนิดนี้พบพืชและสัตว์หลากหลายนับพันสปีชีส์ เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก



ภาพ  ไบโอมป่าดิบชื้น 

1.2 ไบโอมป่าผลัดใบในเขตอบอุ่น   
           ป่าผลัดในใบเขตอบอุ่น (temperate  deciduous forest) พบกระจายทั่วไปในละติจูดกลาง   ซึ่งมีปริมาณความชื้นเพียงพอที่ต้นไม้ใหญ่จะเจริญเติบโตได้   โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 100 เซนติเมตรต่อปี   และมีอากาศค่อนข้างเย็น   ในป่าชนิดนี้ต้นไม้จะทิ้งใบ หรือผลัดใบก่อนที่จะถึงฤดูหนาวและจะเริ่มผลิใบอีกครั้งจากฤดูหนาวผ่านพ้นไปแล้ว   ต้นไม้ที่พบมีหลากหลายทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม รวมถึง ไม้ล้มลุก




ภาพ ไบโอมป่าผลัดใบในเขตอบอุ่น

1.3 ไบโอมป่าสน

           ป่าสน (coniferous  forest)  ป่าไทกา  (taiga) และ ป่าบอเรียล (boreal) เป็นป่าประเภทเดียวกันที่มีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปีพบได้ทางตอนใต้ของแคนาดา   ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปเอเชีย   และยุโรป ในเขตละติจูดตั้งแต่  45-67 องศาเหนือ   ลักษณะของภูมิอากาศมีฤดูหนาวค่อนข้างยาวนาน   อากาศเย็นและแห้งพืชเด่นที่พบ   ได้แก่   พืชจำพวกสน เช่น ไพน์ (pine)  เฟอ (fir)  สพรูซ  (spruce) และเฮมลอค (hemlok) เป็นต้น  



ภาพ  ไบโอมป่าสน


1.4 ไบโอมทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น

           ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น (temperate   grassland) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ทุ่งหญ้าแพรี่ (prairie) ในตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือและทุ่งหญ้าสเตปส์ (steppes) ของประเทศรัสเซีย เป็นต้น สภาพภูมิอากาศมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 25-50 เซนติเมตรต่อปี ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่นนี้เหมาะสำหรับการทำการกสิกรรมและปศุสัตว์  เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงมีหญ้านานาชืดขึ้นอยู่  ส่วนใหญ่พบมีการทำเกษตรกรรมควบคู่ในพื้นที่นี้ด้วย 


ภาพ ไบโอมทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น

1.5 ไบโอมสะวันนา   
           สะวันนา (savanna) เป็นทุ่งหญ้าที่พบได้ในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปออสเตรเลีย   และพบบ้างทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย   ลักษณะของภูมิอากาศร้อน   พืชที่ขึ้นส่วนใหญ่เป็นหญ้าและมีต้นไม้ขึ้นกระจายเป็นหย่อม ๆ ในฤดูร้อนมักมีไฟป่า เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ  

ภาพ ไบโอมสะวันนา

1.6 ไบโอมทะเลทราย   

            ทะเลทราย  (desert) พบได้ทั่วไปในโลก ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่า 25 เซนติเมตรต่อปี   ทะเลทรายบางแห่งร้อนมากมีอุณหภูมิเหนือผิวดินสูงถึง 60 องศาเซลเซียสตลอดวัน   บางแห่งค่อนข้างหนาวเย็น   พืชที่พบในไบโอมทะเลทรายนี้มีการป้องกันการสูญเสียน้ำโดยใบลดรูปเป็นหนาม   ลำต้นอวบเก็บสะสมน้ำ   ทะเลทรายที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่   ทะเลทรายซาฮารา (Sahara) ในทวีปแอฟริกา ทะเลทรายโกบี (Gobi) ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและทะเลทรายโมฮาวี (Mojave) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย   ประเทศสหรัฐอเมริกา    
  

ภาพ ไบโอมทะเลทราย


1.7 ไบโอมทุนดรา
           ทุนดรา (tundra) เป็นเขตที่มีฤดูหนาวค่อนข้างยาวนานฤดูร้อนช่วงสั้น ๆ ลักษณะเด่นคือ ชั้นของดินชั้นบนลงไปจะจับตัวเป็นน้ำแข็งอย่างถาวร   ทุนดราพบทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ   และยูเรเซีย   พบพืชและสัตว์อาศัยอยู่น้อยชนิด   ปริมาณฝนน้อยมาก   ฤดูร้อนช่วงสั้นๆ น้ำแข็งที่ผิวหน้าดินจะละลาย   แต่เนื่องจากน้ำมาสามารถซึมผ่านลงไปในชั้นน้ำแข็งได้จึงท่วมขังอยู่บนผิวดิน   ทำให้ปลูกพืชได้ในระยะสั้นๆ   พืชที่พบจะเป็นพวกไม้ดอกและไม้พุ่ม   นอกจากนี้ยังพบสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น ไลเคนด้วย 

ภาพ  ไบโอมทุนดรา 

2. ไบโอมในน้ำ  

          ไบโอมในน้ำ (aquatic  biomes) ที่พบเป็นองค์ประกอบหลักในไบโอสเฟียร์นั้น   ประกอบด้วย ไบโอมแหล่งน้ำจืด (freshwater biomes) และไบโอมแหล่งน้ำเค็ม (marine biomes) และพบกระจายอยู่ทั่วเขตภูมิศาสตร์ในโลกนี้  

ภาพ ไบโอมในน้ำ

2.1 ไบโอมแหล่งน้ำจืด

          ไบโอมแหล่งน้ำจืด (freshwater biomes) โดยทั่วไปประกอบด้วยแหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งได้แก่ ทะเลสาบ สระ หนอง หรือบึง กับแหล่งน้ำไหล ซึ่งได้แก่ ธารน้ำไหลและแม่น้ำ เป็นต้น

ภาพ ไบโอมแหล่งน้ำจืด

2.2 ไบโอมแหล่งน้ำเค็ม   
ไบโอมแหล่งน้ำเค็ม (marine biomesประกอบด้วยแหล่งน้ำเค็ม   ซึ่งได้แก่   ทะเลและมหาสมุทร   ซึ่งพบในปริมาณมาก   มีถึงร้อยละ 71 ของพื้นที่ผิวโลก และมีความลึกมาก   โดยมีความลึกเฉลี่ยถึง 3,750 เมตร ไบโอมแหล่งน้ำเค็มจะแตกต่างกับแหล่งน้ำจืด   โดยที่มีน้ำขึ้นและน้ำลงเป็นปัจจัยทางกายภาพที่สำคัญ


ภาพ ไบโอมแหล่งน้ำเค็ม 

           นอกจากนี้พบว่ายังมีช่วงรอยต่อระหว่างแหล่งน้ำจืดและแหล่งน้ำเค็มมาบรรจบกันทำให้น้ำบริเวณนั้นเป็นน้ำกร่อยและเกิดเป็นแหล่งน้ำกร่อย (estuaries) ซึ่งมักจะพบตามบริเวณปากแม่น้ำ   การขึ้นลงของกระแสน้ำมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความเค็มของน้ำในแหล่งน้ำกร่อยเป็นอย่างมาก   ทำให้ในรอบวันมีการแปรผันของความเค็มของน้ำ   ซึ่งนักเรียนจะได้ศึกษารายละเอียดในเรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน






แหล่งที่มา : https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/biomes/
                 http://www.vcharkarn.com/lesson/1294

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น